Nutth HiddenSpace

ประสบการณ์ขอหนังสือใบรับแจ้งสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม

Updated: Mar 15

สวัสดีครับเพื่อนๆ ชาวโฮสทุกท่าน หลังจากที่ได้รับเอกสารใบรับแจ้งสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม(โฮมสเตย์)มาสดๆ ร้อนๆ เลยอยากมาแชร์ประสบการณ์ขั้นตอนการขอ การตรวจต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางให้เพื่อนๆ ที่กำลังทำหรือตัดสินใจจะทำได้มีข้อมูลมากขึ้นครับ

เอกสารใบรับรองสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม

ก่อนอื่นผมและครอบครัวขอขอบพระคุณเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัด นายทะเบียนโรงแรม กรมการปกครองอำเภอเมืองเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่จาก อบต. สุเทพ ที่ได้ให้คำแนะนำเป็นอย่างดีและดำเนินเรื่องให้จนเสร็จเรียบร้อย

อนึ่งเนื้อหาในบทความนี้ได้ถูกเขียนขึ้นมาตอนปี พ.ศ.2563 แต่ ณ ปัจจุบันทางกรมการปกครองได้มีการปรับปรุงข้อกฏหมาย ผมจึงขอเขียนอธิบายสิ่งเปลี่ยนแปลงไว้ที่ตรงด้านล่างนี้ ส่วนในเนื้อหาด้านล่างจะเป็นของเดิมที่ผมได้เขียนไว้ครับ
 
กฎกระทรวงฉบับปรับปรุง https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140A052N0000000001200.pdf รายละเอียดส่วนใหญ่จะเหมือนเดิม โดยสรุปรายละเอียดที่ต่างไปจากของเก่า คือ

1. เพิ่มเป็นสถานที่สามารถมีได้ 8 ห้องพัก และรับแขกได้สูงสุด 30 คน

2. ไม่ได้ระบุเรื่องสถานที่พักนั้นต้องสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นและส่งเสริมวัฒนธรรมไทย แต่ในทางปฏิบัติคือยังไม่ให้คอนโด หรือหมู่บ้านจัดสรรเหมือนเดิม

3. เปลี่ยนแบบฟอร์มการขอเป็น https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/11188.pdf

ที่พักของเราถือว่าเป็นโรงแรมหรือไม่ ?

พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 อธิบายไว้ว่าการเปิดห้องพักที่มีการจัดเก็บค่าบริการแม้เพียง 1 ห้อง แต่หากเราเก็บรายได้เป็นรายวัน,รายสัปดาห์หรือนานเท่าไรก็ตามที่ไม่ถึง 1 เดือน ถือว่าเราประกอบธุรกิจโรงแรม โดยทางรัฐได้ยกเว้นไว้ 3 แบบ

  1. สถานที่พักซึ่งดำเนินการโดยส่วนราชการ

  2. สถานที่พักที่คิดค่าบริการเป็นรายเดือนขึ้นไป เช่น การให้เช่าคอนโดแล้วคิดเป็นรายเดือน เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ เป็นต้น

  3. สถานที่พักอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในกฏกระทรวง ( ณ ตอนนี้มี 1 แบบ ) ซึ่งจะเป็นไปตามกฏเพิ้มเติมประเภทที่พักของปี พ.ศ.2551 หรือที่เรามักจะเรียกติดปากว่า"ใบอนุญาตโฮมสเตย์"

กฎเกณฑ์หลักๆ ของที่พักที่เข้าเกณฑ์ไม่เป็นโรงแรม ?

ภาษากฏหมายจะเรียกว่า สถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551 ระบุเกณฑ์สถานที่ไว้ว่า

เรามักจะเข้าใจผิดคิดว่าข้อกำหนดมีแค่ไม่เกิน 4 ห้อง แขกไม่เกิน 20 คนและแจ้งนายทะเบียน
คำอธิบายเพิ้มเติมจากเจ้าหน้าที่พนักงานว่าทำไมคอนโดหรือบ้านในหมู่บ้านจัดสรรถึงแจ้งไม่ผ่าน

1. เป็นสถานที่พักที่มีจำนวนห้องพักในอาคารเดียวกัน หรือ หลายอาคารรวมกันไม่เกิน 4 ห้อง และมีจำนวนผู้พักรวมกันทั้งหมด ไม่เกิน 20 คน โดยนับจากห้องนอนที่ให้บริการเท่านั้น (เพื่อความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ ทางกระทรวงมหาดไทยได้ทำหนังสือเวียนแจ้งทุกจังหวัดแล้ว) หากเรามีห้องเกินแล้วห้องนั้นเราไว้ใช้พักอาศัยเองเราก็แจ้งเจ้าหน้าที่ในวันตรวจได้ครับ

2. จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นใดโดยมีค่าตอบแทน อันเป็นการประกอบกิจการเพื่อหารายได้เสริม เราต้องแสดงหลักฐานว่าเรามีอาชีพหลักอาชีอื่น ในการยื่นเอกสารเราจำเป็นต้องมีใบรับรองการทำงานจากบริษัทเอกชน (เหมือนที่เอาไว้ขอวีซ่า) เอกสารการจ่ายภาษีหรือหนังสือรับรองการประกอบอาชีพ โดยผู้ให้การรับรองต้องเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือได้ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยผู้ให้การรับรองจะต้องแนบสำเนาบัตรประชาชนหรือบัตรข้าราชการ พร้อมลงนามรับรองสำเนาด้วย (*ข้าราชการบำนาญไม่สามารถเป็นผู้รับรองได้)

3. ได้แจ้งต่อนายทะเบียนโรงแรมประจำจังหวัด

4. สถานที่พักนั้นต้องสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นและส่งเสริมวัฒนธรรมไทย นั้นคือเหตุผลว่าแม้เราจะถูกต้องข้อ 1-2-3 แต่ถ้าที่พักของเราอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรหรือคอนโด จะไม่สามารถขอใบรับรองได้หรือถึงแม้จะไปยื่นเจ้าหน้าที่ก็จะปฏิเสธการรับแจ้ง ส่วนพูลวิลล่าในบางกรณีเจ้าหน้าที่อาจจะไม่รับแจ้ง ( ต้องยื่นเป็น รร ประเภท 1 แทน )
 
*** หมายเหตุ ณ ปัจจุบัน ได้มีการปรับปรุงกฏข้อ 1) และ 4)

สำหรับความเข้าใจโดยละเอียดดูเจ้าหน้าที่อธิบายได้นาทีที่ 2:04:00 ครับ

ใบรับแจ้งสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม แท้จริงแล้วมีความหมายว่าอย่างไร ทำให้ที่พักของเราถูกกฎหมายใช่หรือไม่ ?

สำหรับหนังสือที่เราได้รับเป็นเพียงเอกสารหลักฐานว่าเราได้แจ้งต่อนายทะเบียนประจำจังหวัดแล้วว่าเราจะขอให้บริการที่พักรายวันและได้รับการยกเว้นเป็นสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม หากเรารับแขกเกิน 20 คนหรือมีห้องพักเกินจากที่แจ้ง เราจะมีความผิดฐานประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่มีใบอนุญาต

ระยะเวลาในการดำเนินการขอใบรับแจ้ง ?

คำอธิบายในหัวข้อนี้มาจากประสบการณ์ของตัวผมเอง ซึ่งน่าจะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีการขอเอกสารมากน้อยแตกต่างกัน สำหรับของผมหลังจากยื่นเอกสารไปใช้เวลาอีกราวสองปีถึงจะมีการนัดมาตรวจที่พัก หลังจากตรวจเมื่อเราส่งเอกสารครบใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือนก็ได้รับเอกสารครับ ( นายทะเบียนประจำอำเภอจะยื่นเรื่องไปให้ทางจังหวัดภายใน 40 วัน เราสามารถโทรติดตามได้ ) เพราะฉะนั้นสำหรับท่านใดที่คิดจะทำ สมควรใช้เวลาช่วงนี้ลงมือทำได้เลยครับ เพราะอย่างน้อยในขณะที่เราไม่ได้มีใบรับแจ้ง แต่ก็ถือว่าเราได้แจ้งให้นายทะเบียนทราบแล้ว

เอกสารสำหรับการไปจดแจ้งหรือยื่นขอแบบหนังสือรับแจ้งสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม ในเขตกรุงเทพมหานคร ยื่น ณ สํานักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (งานโรงแรม วังไชยา) ส่วนต่างจังหวัด ยื่น ณ ที่ว่าการอำเภอ

1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน

2. สำเนาทะเบียนบ้าน

3. แบบหนังสือแจ้งขอใบรับรองสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551 download ได้ที่นี้

4. หลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของอาคาร ในกรณีที่เราเช่ามาทำกิจการต้องมีหนังสือแสดงความยินยอมให้ใช้อาคารหรือสถานที่ที่ขออนุญาตประกอบกิจการพาณิชย์ในกรณีที่อาคารหรือสถานที่นั้นเป็นของผู้อื่น

5. โฉนดที่ดินหรือหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินที่จะใช้เป็นที่ตั้งของสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม

6. แผนที่แสดงที่ตั้งของสถานที่

7. แบบแปลนภายในอาคาร จะใช้การวาดมือก็ได้ ตัวผมใช้โปรแกรม Magic Plan ( iOS/Android ) ซึ่งทำให้เราใช้โทรศัพท์ในการวัดขนาดห้องได้เลย รวมถึงเขาจะมีเฟอร์นิเจอร์ให้เราเอาไว้ใส่ประกอบ ณ ปัจจุบันโปรแกรมนี้เก็บค่าบริการเป็นรายเดือน

8. เอกสารไซส์ A4 ที่ใส่ภาพถ่ายห้องต่างๆ ของบ้าน, ทางเข้า, ห้องพักแต่ละห้อง และห้องอื่นๆ เช่น ห้องครัว

9. ใบรับรองการทำงานจากบริษัท หรือ หนังสือรับรองการประกอบอาชีพ

10. รูปถ่าย 2 นิ้ว 2 รูป

คุณสมบัติของผู้ที่จะขอรับแบบหนังสือแจ้งสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม

1. มีสัญชาติไทย

2. มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์

3. มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย

4. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

5. ไม่เป็นบุคคลคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

6. ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

7. ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิดในความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี

8. ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต

9. ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือเคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตโดยเหตุอื่นที่มิใช่เหตุตาม (6) แต่เวลาได้ล่วงพ้นมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี

ตัวอย่างแปลนบ้านด้วยโปรแกรม Magic Plan
ติดตั้งป้ายห้องต่างๆตามคำแนะนำ แต่ก็หารูปแบบให้เข้ากับสถานที่

การตรวจที่พัก เจ้าหน้าที่จะโทรมานัดก่อน โดยจะเข้ามาตรวจพร้อมกันทั้งหมดมี 3 ฝ่าย คือ กรมการปกครองส่วนจังหวัด, อบต. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งทั้งหมดจะมาแนะนำการปรับปรุงบ้าน/ที่พักหลักๆ ที่ควรมี ใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที โดยเราพาเดินทัวร์ให้เจ้าหน้าที่ถ่ายภาพครับ ผมขอรวบรวมสิ่งที่เราควรจะเพิ่มจากบ้านพักแบบปกติ

1. ป้ายชื่อโฮมสเตย์ (และเราต้องเสียค่าภาษีป้ายให้เขตด้วยนะครับ ขั้นต่ำ 200 บาทต่อปี)

2. กล้องวงจรปิดภายนอกอาคาร (หลังจากติดตั้งแล้ว ในเว็บ Airbnb เราต้องแจ้งให้แขกทราบด้วยว่าเรามีกล้อง CCTV นะครับ)

3. ป้ายเลขห้องและป้ายห้องอื่นๆ ที่ชัดเจน เช่น ห้องครัว, ห้องพนักงาน

4. ถังดับเพลิง 1 ชั้นต่อ 1 ถัง หากมีห้องเยอะเจ้าหน้าที่อาจจะพิจารณาขอเพิ่มเราก็ติดเพิ่ม

5. ไฟฉุกเฉิน ให้เจ้าหน้าที่ที่ตรวจแจ้งตำแหน่งที่ควรติดตั้งก็ได้ครับ
 

หลังจากที่เราปรับปรุงเพิ่มเติมแล้ว ทางเจ้าหน้าที่จะให้เราส่งภาพถ่ายการแก้ไขไปให้ จากนั้นเขาจะดำเนินการยื่นเอกสารไปที่จังหวัด เพื่อรอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเซ็นท์ให้ ในขั้นตอนนี้สถานที่ของท่านอาจจะผ่านการพิจารณาแล้ว (แต่ยังไม่ได้หนังสือรับรอง) โดยเราสามารถตรวจสอบได้เองที่เว็บ DOPA จะเห็นรายชื่อและหมายเลขที่พักของเรา ข้อดีข้อแรกที่ผมได้ คือ เราสามารถนำที่พักของเราเข้าร่วมโครงการ #เราเที่ยวด้วยกัน ได้ครับ...เพื่อนๆท่านไหนแวะมาพักเที่ยวเชียงใหม่ ยินดีต้อนรับนะครับ :-)

หลังจากนั้น...รอโทรศัพท์หรือเจ้าหน้าที่ แต่นแต้น...! และแล้วฝันก็เป็นจริง…! เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ไปรับหนังสือครับ เราจะได้เอกสารลงตราประทับพร้อมภาพถ่ายตัวเราโดย 1 คนสามารถทำได้แค่ 1 ใบและ 1 สถานที่นะครับ ผมเองก็นำมาใส่กรอบได้เลยประดับไว้ในห้องรับแขก

ใบรับรองนี้ทำให้ Airbnb ถูกกฏหมาย ?

Airbnb, Agoda Home นั้นเป็นเพียง OTA การถูกหรือผิดกฎหมายนั้นขึ้นอยู่กับประเภทที่พักของเราเองครับ ความเห็นส่วนตัวของผมถ้าที่พักของเราเข้าเกฆฑ์ "เราควรทำให้ถูกต้อง" เพราะในกรณีประเทศญี่ปุ่นหลังจากที่ทางรัฐบาลร้องขอ Airbnb ให้ทุก list ที่เปิดบริการจำต้องต้องมีเอกสารรับรองจากรัฐบาลท้องถิ่น (Minpaku Law) ที่พักไหนที่ไม่มีใบอนุญาต ทางเว็บก็ได้ปิดไม่ให้จองทำให้ listing หายไปเกินกว่า80% ซึ่งในอนาคตทิศทางของ Short-term Rental รวมถึงประเทศไทยของเราก็น่าจะเป็นแบบนี้

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Airbnb Host Tips ได้ที่นี้ ขอบคุณที่แวะเข้ามา…Happy​ hosting​ ครับ

ที่พักของเรา ในเว็บไซด์ เราเที่ยวด้วยกัน.com
ระบบงานโรงแรม > ตรวจสอบใบรับแจ้งสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม

57907